หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ศิลาจารึกเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่บรรพชนสมัยโบราณสร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตในช่วงเวลาที่มีการจารึกศิลานั้นๆ นอกจากนี้ศิลาจารึกยังเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี การจัดลำดับความสำคัญของหลักฐานและเอกสารอ้างอิงนั้น ถือกันว่าศิลาจารึกเป็นเอกสารข้อมูลปฐมภูมิ (primary source) ที่มีคุณค่าใช้อ้างอิงได้
ศิลาจารึกเก่าที่สุดที่พบในประเทศไทย เท่าที่มีหลักฐานทางศักราชปรากฏอยู่ด้วยคือ จารึกเขาน้อย พบที่เขาน้อย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1180 จารึกที่พบทั่วไปในประเทศไทยใช้อักษรต่างๆ กัน เช่น อักษรปัลลวะ อักษรมอญโบราณ อักษรขอมโบราณ
จารึกที่คนไทยทำขึ้นปรากฏหลักฐานในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อคนไทยก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำยม พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์สุโขทัยได้ประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นในปีพุทธศักราช 1826 ลายสือไทยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกหลักที่ 1) เป็นจารึกอักษรไทยที่เก่าที่สุด และไม่มีลักษณะของรูปอักษรไทยที่แห่งใดจะเก่าเท่า แม้ว่าจะได้พบจารึกอักษรไทยจำนวนมากในทุกภาคของประเทศไทย แต่หลักฐานการค้นพบปรากฏว่า จารึกเหล่านั้นมีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมาทั้งสิ้น รูปอักษรไทยสมัยสุโขทัยได้เป็นแม่แบบของรูปอักษรไทยทั่วไปในสมัยปัจจุบัน
จารึกรูปอักษรสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้วิวัฒนาการเป็นจารึกรูปต่างๆ คือ 

          1. จารึกอักษรไทยสมัยสุโขทัย ได้แก่จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จังหวัดสุโขทัย จารึกวัดพระยืน  จังหวัดลำพูน
และจารึกวัดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์
2. จารึกอักษรไทยอยุธยา เช่น จารึกแผ่นดีบุกวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3. จารึกอักษรไทยล้านนา เช่น จารึกวัดปราสาท จังหวัดเชียงราย
4. จารึกอักษรไทยอีสาน เช่น จารึกวัดแตนเมือง จังหวัดหนองคาย
5. จารึกอักษรธรรม เช่น จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา จังหวัดอุดรธานี

Leave a comment